ผู้เขียน หัวข้อ: ใช้สองคนเพื่อจะอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าจะแยกกัน ใช้คนเดียวก็พอแล้ว (... หรือเปล่า)  (อ่าน 1442 ครั้ง)

neminem

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 39
  • People Like This 6
ใช้สองคนเพื่อจะอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าจะแยกกัน ใช้คนเดียวก็พอแล้ว (... หรือเปล่า)

ความคิดนี้อยู่ในบริบทของการอยู่ด้วยกันโดยไม่ระบุเพศว่าจะต่างเพศ เพศเดียวกัน หรือ เพศทางเลือก ไม่ว่าจะโดยสิเน่หา หรือ อยู่กันแบบเพื่อนร่วมหารค่าหอพัก และ อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าจะมีอุบัติการณ์ของเพศใดเพศหนึ่งโดดเด่นกว่าเพศที่เหลือก็ตาม

เพื่อหลีกเลี่ยงอคติหรือการชี้นำ ขอให้คิดว่าผู้เขียนไม่มีเพศ

ตกลงกันก่อนว่า ... ความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันแบบสันติของสังคม ไม่ใช่เพื่อที่จะบรรลุธรรมสูงสุดของศาสนาหรือแนวความเชื่อใดๆ

คงเคยได้ยินกันมาบ้างนะว่า ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดัง จริงไหม

แสดงว่าการอยู่ร่วมกันต้องใช้ความยินยอมพร้อมใจกันของคนสองคน ยินยอมคนเดียว อยู่กันไม่ได้ ยกเว้นกรณีคลุมถงชนที่ในสมัยนี้คงไม่ค่อยมี

ถ้ามีมือข้างใดข้างหนึ่งไม่อยากปรบด้วยมือข้างนั้นเคลื่อนออกห่างไป มืออีกข้างที่อยากจะตามไปปรบด้วยก็คงตามไปปรบไม่ได้

แต่สมมติว่ามือข้างที่ไม่อยากจะปรบด้วย เคลื่อนไปไหนไม่ได้ เพราะถูกกฏบางอย่างห้ามเอาไว้ไม่ให้ไปไหน มืออีกข้างจะปรบด้วยก็คงได้แต่ตีแปะๆกับมือข้างที่ไม่อยากปรบด้วย หรือ ซ้ำร้าย ถ้ามือที่ไม่อยากจะปรบด้วยหันหลังมือให้ หรือ ไม่ก็กำมือเสีย มืออีกข้างก็คงได้แต่ตีแปะๆไปบนหลังมือ หรือ สันมืออีกข้าง ... ก็เท่านั้น...

การปรบแบบนั้นคงไม่มีเสียงออกมา หรือ ถ้ามีเสียงออกมาก็คงเป็นเสียงที่ไม่น่าฟัง นั่นแสดงว่า ... ใช้แค่คนเดียวก็พอแล้วที่จะแยกกัน

"มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม" ... คงได้ได้ยินมาในวิชาสังคมตั้งแต่สมัยปฐมศึกษา การที่จะมาอยู่กันเป็นสังคม มนุษย์แต่ล่ะคนจำเป็นต้องสละ "เสรีภาพบางประการ" แก่ "สังคม" และจำต้องยอมรับ "หน้าที่บางประการ" เพื่อแลกกับ "สิทธิ์บางประการ" และ "การปกป้องสิทธิ์นั้น" จากสังคม อันเป็นที่มาของ "กฏเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน" ในทุกยุคทุกสมัย

เช่น ... ต้องแบ่งเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ พืชผลที่ปลูกได้ ส่วนหนึ่ง (เสรีภาพที่จะกินจะใช้ของที่หามาได้ทั้งหมด) และ ต้อง(มีหน้าที่)ไปตักน้ำมาใส่ในบ่อสาธารณะของหมู่บ้านทุกคืนวันพระจันทร์เต็มดวง เพื่อแลกกับ(สิทธิ์)การรับคุมกันภัยโดยคนกลุ่มหนึ่งที่หัวหน้าหมู่บ้านจัดตั้งเพื่อป้องกันสิงโตที่จะมาทำร้าย หรือ อีกหมู่บ้านหนึ่งที่อาจจะมาแย่งอาหาร และ น้ำของทุกคนในหมู่บ้านไป

"กฏเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน" นั้นสังคมร่วมกันกำหนดขึ้น ถ้าสมาชิกในสังคมเห็นว่าไม่เหมาะสมกับตน ก็มีทางออกสองทาง หาแนวร่วมให้เยอะๆ ถกกัน แล้วหาทางที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับได้แล้ว "เปลี่ยนกฏเหล่านั้นเสีย" หรือ "ไปหาสังคมอื่นอยู่" ที่คิดว่ากฏของสังคมนั้นสอดคล้องกับตนเอง หรือ ตนเองรับได้

"กฏเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน" จึงเป็น "ขั้นต่ำ" ของการที่จะทำให้สังคมหนึ่งๆอยู่ได้อย่างสันติสุข แต่ไม่ได้แปลว่า ทุกคนในสังคมจะมีความสุขมนุษย์มีเจตน์จำจงเสรี (free will) แต่เรา"เลือก" ที่จะสละเจตน์จำจงเสรี ก็เพื่อเหตุผลข้างต้น

กฏเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสังคมหลายๆสังคมกำหนดว่า การแยกกันนั้นต้องยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย การแยกกันจึงสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับของสังคม ปัญหามันอยู่ที่คนๆหนึ่งจำเป็นต้องเสียสละเสรีภาพ(ที่จะแยกอยู่) เพื่อที่จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์หนึ่งๆ เพื่อที่จะได้ดำรงสภาพอยู่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ โดยสังคมให้เหตุผลว่ากฏเณฑ์นั้น(ที่ต้องยินยอมสองฝ่ายในการแยกกัน) ทำให้เกิดสันติสุขในสังคม และ ทุกคนในสังคมยอมรับ

กฏเณฑ์ดังกล่าวไม่มีผิด ไม่มีถูก อารัมบทมาให้ทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า นี่คือเรื่องของกฏเกณฑ์ที่สมาชิกในสังคมสร้างขึ้นมา และ ต้องยอมรับ

ในมุมมองกลับกัน สังคมให้อำนาจคนหนึ่งกุมเจตน์จำนงของอีกคนหนึ่งเอาไว้ในกำมือ(โดยผ่านกฏเณฑ์ดังกล่าว) ในทางการเมืองการปกครอง เราเรียกว่า minority rules คือ ใช้เสียงคนส่วนน้อยในการบังคับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ เช่น สิทธิ์การวีโต้ของ 5 ชาติมหาอำนาจในสหประชาชาติ หรือ พรรคขนาดกลางที่เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นต้น

ถามว่าเป็นธรรมไหม ถ้าเอาหลักที่ว่า "ถ้าอะไรที่ใครๆเขาก็ทำกัน น่าจะถูกต้อง น่าจะดี น่าจะเป็นธรรม" ถ้าใช้หลักนี้ก็คงจะเป็นธรรม เพราะหลายๆสังคมก็ออกกฏเกณฑ์อะไรทำนองนี้คล้ายๆกัน แต่จริงๆแล้วเป็นธรรมไหม ... นั่นอาจจะเป็นอีกคำตอบหนึ่ง เก็บคำตอบเอาไว้ในใจก็แล้วกัน ผู้เขียนไม่อยากทราบ

โอเค เอาล่ะ ถ้าคิดว่าแบบนั้นเป็นธรรม แต่ถามว่า

1) ก่อให้เกิดความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของคนสองคนต่อไปไหม และ

2) สังคมจำเป็นต้องรับผิดชอบความสุขความทุกข์ของคนสองคนนั้นอันเนื่องมาจากที่คนใดคนหนึ่งจำต้องทำตามกฏเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ ... นั่นก็เป็นอีกคำตอบ

เก็บคำตอบเอาไว้ในใจก็แล้วกัน ผู้เขียนไม่อยากทราบหลักพื้นฐานของ "ความสุข" หรือ "ความไม่ทุกข์" ของคน

ในเกือบทุกศาสนา และ ความเชื่อเท่าที่รู้จัก คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คนทุกคนเป็นเจ้านาย หรือ รับผิดชอบ ต่อความรู้สึกสุข หรือ ไม่ทุกข์ ของตัวเอง

เมื่อใจเราไม่สุข หรือ ทุกข์ เราจะไปชี้ว่า เพราะนั่น เพราะนี่ เราจึงไม่สุข(หรือจะสุข) หรือ ทุกข์(หรือจะไม่ทุกข์) ก็คงจะแปลกๆ

เมื่อมี "ฉัน" มันจึงมี "ของฉัน" พอรู้สึกว่าไม่ใช่ "ของฉัน" ตัว "ฉัน" จึงทุกข์ (ถ้าใช่ "ของฉัน" ฉันจึง "สุข")

ถ้ามือที่อยาก "ไป" จำต้องอยู่กับมือที่อยาก "ปรบ" ตามกฏเกณฑ์ขั้นต่ำของสังคม ความ "ทุกข์" จึงเกิดกับมือที่อยากไป แต่ไปไม่ได้ เพราะมือที่อยากปรบกุมเจตน์จำนงของมือที่อยากไปเอาไว้ในกำมือ(โดยผ่านกฏเณฑ์ดังกล่าว)

ถ้ามือที่อยากไปรับผิดชอบกับความสุขของตัวเองได้ เรื่องมันก็จบ ในเมื่อไปไม่ได้ก็ "กำมือ" เสีย (การจะฝืนปรบนั้นขัดเจตน์จำนงอิสระ) แล้วมีความสุขไปกับการกำมือ

ถ้ามือที่อยากปรบยังยึดกับ "ฉัน" และ "ของฉัน" ก็คงจะได้มือที่อยากไปแต่ไม่อยากปรบเป็น "ของฉัน" ต่อไป แต่ไม่ได้ปรบ

ถ้าอยากให้ "อยู่" ด้วย และ อยากให้ "ปรบ" ด้วย ก็คงจะทุกข์ ซึ่งก็ควรจะรับผิดชอบกับความทุกข์ของตัวเองไป เพราะตัวเองดันเอาความสุขความทุกข์ของตัวเองไปแขวนไว้กับคนอื่น ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละเป็นคนที่จะสุขหรือจะทุกข์

ในทางกลับกัน ถ้ามือที่อยากไปรับผิดชอบความสุขของตัวเองไม่ได้ อยากจะไปอยู่ร่ำไป (ทั้งๆที่ไปไม่ได้) ก็คงจะทุกข์อยู่ทุกลมหายใจ

อย่าลืมว่ากฏเกณฑ์ที่ผูกมัดอยู่นั้นเป็นเพียง "ขั้นต่ำ" คือห้ามเพียงแค่ไม่ให้มือที่อยากไป ไปไหนไม่ได้ และ ห้ามไม่ให้ไปปรบกับมือข้างอื่น แต่ไม่ได้ห้ามมือที่อยากไปอยู่นิ่งๆ หันหลังมือ กำมือ หรือ เคลื่อนออกไปในระยะที่มืออีกข้างตามไปปรบไม่ถึง

การตัดสินใจจะอยู่ด้วยกันภายใต้กฏเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่มีทางย้อนกลับ (ยูเทิร์น) มีทางเลี้ยวตามแยกต่างๆ แต่คนๆหนึ่งได้เต็มใจสละสิทธิ์ และ มอบการควบคุมพวงมาลัยรถที่จะย้อนกลับ (ยูเทิร์น) หรือ จะเลี้ยวตรงจุดที่อยากเลี้ยวให้กับอีกคนหนึ่ง ... ซวยไป

อีกที ... ถ้าไม่ชอบกฏเกณฑ์นี้

1) พยายามอยู่อย่างมีความสุขภายใต้กฏเกณฑ์ในสังคมที่ตัวเองอยู่

2) รวมคนที่มีแนวคิดเดียวกันให้มากพอ แล้วเปลี่ยนกฏเกณฑ์ที่ไม่ชอบเสีย หรือ

3) หาสังคมใหม่อยู่ที่ที่มีกฏเกณฑ์ถูกใจ

ที่สุดแล้ว มือทุกข้างต้องรับผิดชอบกับความสุขหรือทุกข์ของตัวเองเสมอ การไปมอบความสุขและทุกข์ของใจตัวเองไว้ในมือคนอื่นนั้นท่านว่าเขลายิ่งนัก

Neminem